ระบบนิเวศด้านการจราจร

แนวทางของฮอนด้า

ในปี พ.ศ. 2541 ฮอนด้าได้เริ่มนำระบบ “Internavi” ซึ่งเป็นระบบนำทางในรถยนต์มาใช้ในประเทศญี่ปุ่นโดยมีฟังก์ชั่นรองรับการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการขับขี่ปลอดภัย โดยผู้ขับขี่จะทราบข้อมูลสภาพการจราจรและภัยพิบัติต่างๆ จากข้อมูลการขับขี่ที่รวบรวมมาจากรถยนต์ฮอนด้า

ในปี พ.ศ. 2556 ฮอนด้าได้เปิดตัวบริการแผนที่เพื่อความปลอดภัยที่เป็นรวมและวิเคราะห์ข้อมูลหลากหลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลการเบรกฉุกเฉินที่รวบรวมมาจากระบบ Internavi ข้อมูลอุบัติเหตุการจราจรที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาลท้องถิ่น และข้อมูลการจราจรจากคนในพื้นที่ บริการดังกล่าวซึ่งอยู่ในเว็บไซต์ของฮอนด้าช่วยให้ผู้ใช้รู้ข้อมูลพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งได้ล่วงหน้า นอกจากเปิดให้บุคคลทั่วไปใช้งานแล้ว รัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ ยังได้นำบริการแผนที่เพื่อความปลอดภัยนี้ไปใช้ในการปรับปรุงถนนหนทาง เช่น การเพิ่มเครื่องหมายต่างๆ บนถนน เป็นต้น

การดำเนินงานดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2560 บริษัทได้เปิดตัวบริการ Honda Drive Data Service บริการข้อมูลที่แสดงพื้นที่อันตรายบนแผนที่แบบเรียลไทม์ เพื่อรับมือกับปัญหาสังคม รวมถึงการป้องกันภัยพิบัติและอุบัติเหตุจากการจราจร ฮอนด้ายังได้นำระบบ AACN* มาใช้ โดยเป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของรถยนต์เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการเสียชีวิตและการบาดเจ็บรุนแรงของผู้ขับขี่และผู้โดยสารโดยอ้างอิงจากข้อมูลขณะเกิดอุบัติเหตุเพื่อประเมินความเป็นไปได้ดังกล่าว และแจ้งให้โรงพยาบาลที่มีหน่วยแพทย์เฮลิคอปเตอร์ทราบเพื่อให้มีการจัดส่งทีมแพทย์เฮลิคอปเตอร์หรือทีมแพทย์รถฉุกเฉินมายังพื้นที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ

สำหรับในอนาคตนั้น ฮอนด้าอยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยี Safe and Sound Network Technology ที่เชื่อมต่อผู้ที่ใช้ถนนทุกรายเข้าด้วยกัน กล่าวคือผู้คนและรถยนต์ที่สัญจรบนท้องถนนโดยผ่านระบบโทรคมนาคมเพื่อคาดการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ก่อนเกิดอุบัติเหตุและหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

เทคโนโลยีดังกล่าวใช้เทคโนโลยีรูปแบบเสมือนจริงที่รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่ใช้ถนนทุกรายและสร้างสภาพแวดล้อมการจราจรขึ้นในพื้นที่เสมือนจริง โดยสามารถคาดการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้จากพฤติกรรมการใช้ถนนของมนุษย์โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของฮอนด้าในการกำหนดรูปแบบและลักษณะเฉพาะของผู้ใช้ถนนและแสดงบนพื้นที่เสมือนจริง ผู้ใช้ถนนจะได้รับทราบข้อมูลประกอบต่างๆ ที่ได้จากการคาดการณ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และหลีกเลี่ยงการกระทำต่างๆ ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ

ฮอนด้าเดินหน้าผลักดันให้กลุ่มอุตสาหกรรมและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยี Safe and Sound Network Technology เพื่อสร้างสรรค์สังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไป

* ระบบรายงานข้อมูลการชนของรถยนต์โดยอัตโนมัติซึ่งเป็นประโยชน์ในการช่วยชีวิตในกรณีฉุกเฉินโดยระบุตำแหน่งการเกิดอุบัติเหตุที่ถูกต้องและมีการคาดการณ์การบาดเจ็บในกรณีที่ถุงลมนิรภัยทำงาน
มีการวางแผนพัฒนาระบบที่ขยายขอบเขตครอบคลุมอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้สัญจรทางเท้าและรถจักรยานยนต์ด้วย

กิจกรรมระดับภูมิภาคในปีงบประมาณ 2567

ฮอนด้าเชื่อว่า การปรับปรุงระบบจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจรได้ และยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์นั้นถือว่ามีความร้ายแรงมาก ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ฮอนด้าได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนนของมาเลเซีย (MIROS) ในประเทศมาเลเซีย และสมาคมวิจัยวิทยาการขนส่งแห่งเอเชีย (ATRANS) ในประเทศไทยเพื่อดำเนินการวิจัยร่วมกันเพื่อลดอุบัติเหตุจากการจราจรในประเทศกลุ่มอาเซียน ผลการวิจัยดังกล่าวจะนำไปใช้ในโครงการปรับปรุงต่างๆ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ อีกทั้งยังมีเป้าหมายส่งเสริมการออกแบบรถจักรยานยนต์ การสร้างมาตรฐานการวิเคราะห์อุบัติเหตุ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน กฎหมายการจราจร และนโยบายความปลอดภัยอื่นๆ

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ฮอนด้าได้จัดงานอบรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีแก่สื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกโดยผู้เข้าร่วมอบรมได้รับประสบการณ์การใช้ เทคโนโลยี Safe and Sound Network Technology ที่มีการจำลองเหตุการณ์เกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์และรถยนต์บริเวณทางแยก ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ฮอนด้ายังได้จัดแสดงการทดสอบเทคโนโลยีแจ้งเตอนอันตรายของรถจักรยานยนต์โดยใช้การติดตั้งกล้องในศูนย์ทดสอบฮอนด้าในประเทศไทย